
ความเพียรที่พูนไป
ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน
ความเพียรที่พร่องไป
ย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน
เราจึงควรกำหนดความเพียรให้เสมอพอเหมาะ
การทำความเพียร ควรเริ่มก่อตัวขึ้นในใจให้พร้อมและถูกต้องก่อน
แล้วจึงขยายออกไปเป็นการกระทำภายนอกให้ประสานกลมกลืนกัน
มิใช่ เมื่อคิดอยากทำความเพียร ก็สักแต่ว่าระดมใช้กำลังกายเอาแรงเข้าทุ่ม
ซึ่งอาจกลายเป็นการทรมานตนเอง ทำให้เกิดผลเสียได้มาก
การทำความเพียรจึงต้องสอดคล้องกลมกลืนกันไปกับธรรมข้ออื่นๆ ด้วย
โดยเฉพาะสติสัมปชัญญะ ใช้ปัญญาดำเนินความเพียรให้พอเหมาะ ไม่ให้ตึง หรือ หย่อนเกินไป
.
เกร็ดเรื่องราว
.
ครั้งนั้น ท่านพระโสณะพำนักอยู่ในป่าสีตะวัน ใกล้เมืองราชคฤห์ ท่านได้ทำความเพียรอย่างแรงกล้า เดินจงกรมจนเท้าแตกทั้งสองข้าง แต่ไม่สำเร็จผล คราวหนึ่ง ขณะอยู่ที่สงัด จึงเกิดความคิดว่า จะลาสิกขา เพื่อไปใช้จ่ายโภคสมบัติ และทำความดีแทน
.
พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงความคิดของท่านพระโสณะ และได้เสด็จมาเทศนาด้วย
.
พระพุทธเจ้า: โสณะ เธอเกิดความคิด มิใช่หรือ?
โสณะ: ถูกแล้วพระเจ้าข้า
.
พระพุทธเจ้า: เธอคิดเห็นอย่างไร? ครั้งก่อนเมื่อเป็นคฤหัสน์ เธอเป็นผู้ชำนาญในการดีดพิณมิใช่หรือ?
โสณะ: ถูกแล้ว พระเจ้าข้า
.
พระพุทธเจ้า: เธอคิดเห็นอย่างไร? คราวใดสายพิณของเธอตึงเกินไป คราวนั้นเสียงพิณเธอมีเสียงเพราะ หรือเหมาะที่จะใช้การ กระนั้นหรือ?
โสณะ: หามิได้ พระเจ้าข้า
.
พระพุทธเจ้า: เธอคิดเห็นอย่างไร? คราวใด สายพิณของเธอหย่อนเกินไป คราวนั้นพิณของเธอ มีเสียงเพราะ หรือเหมาะที่จะใช้การ กระนั้นหรือ?
โสณะ: หามิได้ พระเจ้าข้า
.
พระพุทธเจ้า: แต่คราวใด สายพิณของเธอ ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป
ตั้งอยู่ในระดับพอดี คราวนั้นพิณของเธอ จึงจะมีเสียงไพเราะ หรือเหมาะที่จะใช้การ ใช่ไหม?
โสณะ: ถูกแล้ว พระเจ้าข้า
.
พระพุทธเจ้า: ฉันนั้นเหมือนกัน โสณะ ความเพียรที่ระดมมากเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่หย่อนไปย่อมเป็นเพื่อความเกียจคร้าน เพราะเหตุนั้นแล เธอจงตั้งใจกำหนดความเพียรให้เสมอพอเหมาะ จงเข้าใจความเสมอพอดีกันแห่งอินทรีย์ [1] ทั้งหลาย และจงถือเป็นนิมิตในความเสมอพอดีกันนั้น
.
.
[1] อินทรีย์ หมายถึง ความสามารถหลักทางจิตห้าประการ ได้แก่ ศรัทธา ปัญญา วิริยะ (ความเพียร) และ สมาธิ
.
ที่มา:
.
หนังสือ พุทธธรรม ของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/302
.
โสณสูตร ใน พระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 14 อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=8830&Z=8947&pagebreak=0