
ที่ควรช้าก็ช้า ที่ควรเร่งก็เร่ง ผลที่หมายจึงจะสำเร็จบริบูรณ์
โย ทนฺธกาเล ตรติ ตรณีเย จ ทนฺธติ
สุกฺขปณฺณํว อกฺกมฺม อตฺถํ ภญฺชติ อตฺตโน ฯ
โย ทนฺธกาเล ทนฺเธติ ตรณีเย จ ตารยิ
สสีว รตฺตึ วิภชํ ตสฺสตฺโถ ปริปูรตีติ ฯ
ผู้ใดในคราวที่ควรทำช้าๆ กลับทำงานอย่างเร็วพลัน
ในคราวที่ควรทำอย่างรีบด่วน กลับทำอย่างเชื่องช้า
ผู้นั้นย่อมหักราญประโยชน์ของตนเอง
เหมือนคนแข็งแรงเหยียบใบตาลแห้ง
ผู้ใดในคราวที่ควรทำช้าๆ ก็ค่อยๆ ทำงานอย่างช้าๆ
ในคราวที่ควรทำรีบด่วน ก็รีบทำอย่างเร็วพลัน
ผู้นั้นย่อมได้ประโยชน์บริบูรณ์
เหมือนดวงจันทร์กำจัดความมืด ยังราตรีให้สว่างอยู่
เกร็ดเรื่องราว
พุทธพจน์นี้ มาจากส่วนหนึ่งของ คชกุมภชาดก
ที่เล่าเรื่องในอดีตกาล
เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี
พระโพธิสัตว์ได้เป็นอำมาตย์ของพระเจ้าพาราณสีนั้น
พระเจ้าพาราณสีได้เป็นผู้มีพระอัธยาศัยเกียจคร้าน
พระโพธิสัตว์จึงประสงค์ให้พระราชาทรงรู้สึกพระองค์
วันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปพระราชอุทยาน
ทอดพระเนตรเห็นสัตว์ตัวหนึ่ง
จึงตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า สัตว์นั้นชื่ออะไร
พระมหาสัตว์กราบทูลว่า สัตว์นั้นชื่อ คชกุมภะ [1]
แล้วกราบทูลว่า เป็นสัตว์ที่เฉื่อยช้า
แม้จะเดินไปทั้งวัน ก็ไปได้เพียงนิ้วหนึ่งหรือสองนิ้วเท่านั้น
หากมีไฟป่า ถ้าเดินไปไม่ถึงโพรงไม้ หรือ ช่องแผ่นดิน ก็จะตาย
พระโพธิสัตว์ใช้เรื่องนี้ มากล่าวเปรียบเปรยเพื่อให้พระราชาทรงฟังว่า
ผู้ใดในคราวที่ควรทำช้าๆ กลับทำงานอย่างเร็วพลัน
ในคราวที่ควรทำอย่างรีบด่วน กลับทำอย่างเชื่องช้า
ผู้นั้นย่อมหักราญประโยชน์ของตนเอง
เหมือนคนแข็งแรงเหยียบใบตาลแห้ง
ผู้ใดในคราวที่ควรทำช้าๆ ก็ค่อยๆ ทำงานอย่างช้าๆ
ในคราวที่ควรทำรีบด่วน ก็รีบทำอย่างเร็วพลัน
ผู้นั้นย่อมได้ประโยชน์บริบูรณ์
เหมือนดวงจันทร์กำจัดความมืด ยังราตรีให้สว่างอยู่
พระราชาได้ทรงสดับคำของพระโพธิสัตว์แล้ว
ตั้งแต่นั้นก็มิได้ทรงเกียจคร้านอีก
[1] คชภุมภะ คือ สัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง รูปร่างของมันคล้ายกระพองช้าง และมีพฤติกรรมโยกตัวช้า ๆ เมื่อเคลื่อนที่
ที่มา: คชกุมภชาดก ใน พระไตรปิฎกเล่มที่ 27 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 19 ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=678